บทความทางวิชาการ

การสัมภาษณ์ รองศาสตราจารย์ปริญญา ตันติสุข คณบดีคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

โดย จิรดา จรีเวฬุโรจน์

การสัมภาษณ์ รองศาสตราจารย์ปริญญา  ตันติสุข  คณบดีคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร 


โครงการปฏิบัติการไทยเข้มเเเข็ง : ศิลปกรรมจากภูมิปัญญาไทย “วิจิตรศิลป์-สินไทย”
               
ตามธรรมชาติของคนไทยเราต่างก็มีความสามารถในเชิงการช่างฝีมือ หรือสามารถสร้างผลงานต่าง ๆ ที่อาศัยความประณีตบรรจงได้ดี แต่สิ่งที่ยังขาดอยู่ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะตอบสนองค่านิยมของคนใน ปัจจุบันนี้ได้คือ “ความคิดสร้างสรรค์”

 


มหาวิทยาลัย ศิลปากรจึงมีแนวคิดที่จะช่วยพัฒนาระบบการผลิตของคนไทยขึ้นมาอย่างเป็น รูปธรรม โดยที่ทางสถาบันตระหนักถึงศักยภาพด้านศิลปะ หรือการออกแบบของคณะวิชาต่าง ๆ และเล็งเห็นว่าสามารถนำคุณประโยชน์นี้ไปช่วยพัฒนาหรือส่งเสริมกระบวนการผลิต ของท้องถิ่น รวมถึงผู้ประกอบการต่างๆ ให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพอันจะส่งผลให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นด้วย ทางมหาวิทยาลัยจึงคิดจัดทำโครงการขึ้นมา โดยมีเป้าหมายคือ การพัฒนาให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น มีสถาบันวิจัยและพัฒนาของมหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นฝ่ายประสานงานกับคณะวิชา ต่างๆ ให้เสนอโครงการที่สามารถนำศักยภาพของแต่ละคณะวิชาไปสร้างสรรค์ผลงาน หรือส่งเสริมท้องถิ่นรวมถึงภาคธุรกิจ ให้ได้ผลลัพธ์ตอบโจทย์กับเป้าหมายดังกล่าว

สำหรับในส่วนของคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ เนื่องด้วยเวลาในการดำเนินโครงการมีจำกัด เราจึงใช้วิธีการต่อยอดจากโครงการเดิมที่เคยทำอยู่คือโครงการ ‘OTOP หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์’ เพราะแนวคิดของโครงการนั้นมีความคล้ายคลึงกัน คือนำศักยภาพด้านความคิดสร้างสรรค์ในเชิงศิลปะของคณะจิตรกรรมฯ เข้าไปสนับสนุนการออกแบบ หรือช่วยพัฒนาวัสดุของท้องถิ่นให้มีมูลค่าเพิ่ม จึงเกิด “โครงการปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง: ศิลปกรรมจากภูมิปัญญาไทย วิจิตรศิลป์-สินไทย” ขึ้น เพื่อเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการพัฒนาประเทศไทยให้เข้มแข็ง โดยมีแนวคิดสำคัญคือ นำ “วิจิตรศิลป์” ซึ่งหมายถึงองค์ความรู้ในเชิงศิลปะ มาพัฒนา“สิน”ที่มาจาก‘สินทรัพย์’ของประเทศไทยให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น

การดำเนินโครงการเริ่มจากการตั้งคณะกรรมการเพื่อกำหนดนโยบายและวางแผนงาน อันประกอบไปด้วยคณาจารย์อาวุโส หรือตัวแทนจากภาควิชาต่างๆ ต่อมาจึงกำหนดกลุ่มเป้าหมายซึ่งก็คือกลุ่มผู้ประกอบการที่จะมาร่วมโครงการ ได้แก่ บริษัท At Bangkok Co.,Ltd ผู้ผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์ FLYNOW โดยให้การสนับสนุนเทคนิคประเภทผ้าและเครื่องหนัง บริษัท วัฒนสิริโลหการ จำกัด สนับสนุนเทคนิคประเภทโลหะ ห้างหุ่นส่วนจำกัดเถ้าฮงไถ่ ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์เครื่องเคลือบดินเผา บริษัท เอเบิลอินทีเรีย เวิร์คช็อป จำกัด ให้การสนับสนุนด้านผลิตภัณฑ์ไม้ และ MR. Warwick West ศิลปินวิทยากรพิเศษจากออสเตรเลีย ให้ความรู้และสนับสนุนการผลิตประเภทแก้ว

เมื่อติดต่อประสานงานกับกลุ่มผู้ประกอบการได้แล้ว จึงจัดสัมนาร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการกับกลุ่มศิลปิน ซึ่งมีทั้งคณาจารย์จากคณะจิตรกรรมฯ ศิษย์เก่าของคณะจิตรกรรมฯ รวมถึงคณาจารย์ต่างคณะวิชา เพื่อให้ผู้ประกอบการชี้เเจงเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หรือขอบเขตการผลิตที่ตน เองกระทำอยู่แต่เดิม โดยเป็นไปในลักษณะของการพูดคุยและให้ชมตัวอย่างผลิตภัณฑ์ จากนั้นจึงให้ฝ่ายศิลปินเข้าเยี่ยมชมแหล่งผลิต เพื่อให้ทราบถึงรายละเอียดของวัสดุและขั้นตอนต่างๆ แล้วจึงกลับมาออกแบบด้วยการร่างภาพต้นแบบของผลงาน ต่อมาก็มีการหารือกันอีกครั้งระหว่างศิลปินและผู้ประกอบการเพื่อตรวจสอบความ เป็นไปได้ในการสร้างผลงาน ซึ่งในบางกรณีอาจจำเป็นต้องมีการปรับแก้ต้นแบบเพื่อให้สอดคล้องกับเทคโนโลยี การผลิตของผู้ประกอบการ จากนั้นศิลปินแต่ละท่านจะติดต่อกับผู้ประกอบการโดยตรงเพื่อเริ่มทำการผลิตผล งาน และในอีกส่วนหนึ่งก็เปิดโอกาสให้ศิลปินได้ผลิตผลงานด้วยตัวเอง ซึ่งบางท่านก็จะสร้างสรรค์ผลงานด้วยเทคนิคอื่นๆ แต่อย่างไรก็ดี ผลลัพธ์ที่ได้ก็จะไปถึงยังผู้ประกอบการรายย่อยอื่นๆได้เช่นเดียวกัน ท้ายที่สุดก็จัดรูปแบบการเผยเเพร่ผลงาน อันประกอบไปด้วย ตัวผลผลิต การจัดนิทรรศการ  เว็บไซต์ และหนังสือที่รวบรวมองค์ความรู้ต่างๆในการสร้างสรรค์ผลงานของศิลปินแต่ละ ท่านตลอดทั้งโครงการ

จุดมุ่งหมายของโครงการนี้มิใช่เพียงเพื่อตอบสนองความต้องการของบุคคลกลุ่มใด กลุ่มหนึ่ง แต่มุ่งหวังเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับหลายฝ่ายในระยะยาว  อย่างเช่นสำหรับผู้ประกอบการก็ดี หรือผู้ผลิตระดับท้องถิ่นก็ดี จะสามารถนำความรู้ความถนัดในด้านศิลปะมาต่อยอดภูมิปัญญาของตน เพื่อสร้างเป็นผลงานศิลปรรม หรือนำความรู้นั้นๆไปประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์ของตนเอง เพื่อสร้างอัตลักษณ์ที่โดดเด่นขึ้นมาได้ หากเป็นทางด้านวิชาการก็จะเกิดองค์ความรู้ใหม่ๆหรือมุมมองใหม่ๆขึ้น เพราะในระหว่างกระบวนการปฏิบัติร่วมกันระหว่างศิลปินกับผู้ประกอบการ อาจมีการต่อรอง แลกเปลี่ยนทัศนคติ หรือคิดค้นวิธีการใหม่ๆในการออกแบบและการผลิต ที่อาจเป็นประโยชน์ต่อสาขาวิชาความรู้ได้มากยิ่งขึ้น ส่วนสาธารณชนทั่วไปก็จะได้ความรู้จากนิทรรศการที่จัดขึ้น รวมถึงจากการเผยเเพร่ข้อมูลต่างๆในเว็บไซต์ทางอินเตอร์เน็ต และเนื่องจากโครงการนี้ดำเนินไปด้วยความร่วมมือจากหลายฝ่าย จึงก่อให้เกิดสัมพันธไมตรีระหว่างหน่วยงานรัฐ ซึ่งหมายถึงมหาวิทยาลัยศิลปากรกับภาคเอกชนคือผู้ประกอบการแต่ละท่าน อันจะก่อให้เกิดเครือข่ายที่เข้มเเข็งขึ้นในอนาคต

สำหรับผลที่คาดหวังว่าจะได้รับจากการร่วมมือกัน ส่วนใหญ่แล้วจะสอดคล้องไปกับจุดมุ่งหมายของโครงการ ประการแรกคือ ผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตระดับท้องถิ่น สามารถนำความรู้ทางด้านวิจิตรศิลป์จากฝ่ายศิลปิน ไปต่อยอดภูมิปัญญาดั้งเดิมตนเองให้มีคุณค่ามากยิ่งขึ้น ประการที่สอง คือ เกิดการเเก้ปัญหาต่างๆในเชิงสร้างสรรค์ อาทิเช่น ปัญหาความซ้ำซากของการออกแบบ อันเนื่องมาจากความเคยชินของผู้ผลิต ซึ่งสามารถแก้ปัญหาได้ด้วยองค์ความรู้ของแต่ละฝ่ายที่มาแลกเปลี่ยนกัน ทำให้การออกแบบก็ดี หรือการผลิตก็ดี มีรูปแบบที่แปลกใหม่มากขึ้น ผลงานที่เกิดขึ้นมาใหม่นี้จึงมีความน่าสนใจมากไปกว่าที่เป็นอยู่เดิม  สุดท้ายคือการบริการความรู้สู่สาธารณะทางช่องทางต่างๆที่จัดทำขึ้น ทำให้ทั้งภาคธุรกิจและภาคประชาชนสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้กับหน่วยการ ผลิตของตนเอง เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในระบบการผลิตของคนไทยต่อไป


ถึงแม้ว่าโครงการนี้จะมีระยะเวลาดำเนินงานค่อนข้างจำกัด แต่อย่างไรก็ตามการจัดทำโครงการ
นี้ก็กลายมาเป็นโอกาสอันดีที่ศิลปินหลากหลายท่านจะได้พบเจอกับผู้ประกอบการ ซึ่งอยู่ในภาคธุรกิจ จึงอยากจะฝากคำขอบคุณไปถึงผู้ประกอบการทุกท่าน ที่มีส่วนช่วยในการดำเนินกิจกรรมตามโครงการครั้งนี้ เพราะจากการทำกิจกรรมร่วมกัน ทำให้เกิดโอกาสเรียนรู้ซึ่งกันและกัน นับว่าเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่จะก่อให้เกิดการสร้างสรรค์ในรูปเเบบใหม่ๆ รวมถึงได้รับความรู้ใหม่ๆด้วยกันทั้งสองฝ่าย โดยที่ฝ่ายศิลปินเองอาจจะได้ทราบถึงข้อจำกัดทางเทคนิค เงื่อนไขทางการผลิต หรือหนทางความเป็นไปได้ในการสร้างงาน ในขณะเดียวกันฝ่ายผู้ประกอบการเองก็คงจะได้แง่มุมในทางศิลปะเพิ่มเติม จนสามารถพัฒนาในสิ่งที่ตนทำอยู่เดิม ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่เปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ได้ และผล สรุปจากความร่วมมือร่วมใจกันก็จะไม่จบอยู่เพียงแต่ในโครงการนี้ แต่ไม่ว่างานใดๆที่เกิดจาก 2 ปัจจัยสำคัญ คือ “ความคิดสร้างสรรค์” และ “ความร่วมมือ” งานนั้นๆก็ย่อมประสบผลสำเร็จ และถึงแม้จะเป็นเพียงหน่วยงานเล็กๆ แต่ก็สามารถเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยพัฒนาประเทศได้ ซึ่งหลักการที่เกิดขึ้นมานี้ก็คือผลลัพธ์สำคัญ ที่พวกเราต่างได้รับจากการดำเนิน‘โครงการปฏิบัติการไทยเข้มเเข็ง: ศิลปกรรมจากภูมิปัญญาไทย วิจิตรศิลป์-สินไทย’ ในครั้งนี้ด้วย

เรียบเรียงจากการสัมภาษณ์ รองศาสตราจารย์ปริญญา  ตันติสุข  คณบดีคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร  

โดย จิรดา  จรีเวฬุโรจน์