บทความทางวิชาการ

บทสัมภาษณ์ คุณธัชพร เตชะวิเชียร

ธีรพล อุทุม

คุณธัชพร เตชะวิเชียร 
กรรมการผู้จัดการทั่วไป บริษัท วัฒนสิริโลหะการ จำกัด
ผู้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากโลหะ หนึ่งในผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการศิลปกรรมจากภูมิปัญญาไทย  “วิจิตรศิลป์-สินไทย” โดยให้การสนับสนุนศิลปินทั้งในด้านเทคนิค วัสดุ และการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะด้วยโลหะ

 

จากการสัมภาษณ์พูดคุยกัน คุณธัชพร ได้เล่าถึงความเป็นมาของบริษัทตั้งแต่ในอดีตจนปัจจุบันว่า

“เดิมแต่ก่อนสมัยคุณพ่อเป็นผู้ดูแลยังเป็นโรงงานขนาดเล็ก รับจ้างผลิตปั๊มลม ท่อไอเสียรถจักรยานยนต์ จากนั้นจึงผันเปลี่ยนมาผลิตเฟอร์นิเจอร์ชุบโครเมียม และงานโลหะทั้งหมด ซึ่งรับแบบงานจากผู้ว่าจ้างจากบริษัทอื่น ผลิตตามแบบที่ให้มาอีกทอดหนึ่ง”

นอกเหนือจากการรับงานตามแบบที่ผู้ว่าจ้างเสนอมาแล้ว ในระยะแรกเริ่มนั้นมีแนวความคิดในการสร้างสรรค์หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ของทางบริษัทเองหรือเปล่าครับ

“สมัยที่คุณพ่อเป็นผู้ดำเนินกิจการอยู่ขณะนั้น ยังไม่มีแนวคิดที่จะสร้างสรรค์หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์จากโลหะใด ๆ เลย เพียงแค่รับแบบงานจากผู้ว่าจ้างให้ผลิตตามแบบที่ให้มา ไม่ได้คำนึงว่าผลิตภัณฑ์ของทางบริษัทจะต้องเป็นสิ่งที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ อาจเป็นเพราะขณะนั้นบริษัทยังอยู่ในช่วงก่อร่างสร้างตัว  เศรษฐกิจก็ยังเอาแน่เอานอนไม่ได้ อีกทั้งงานที่ผู้ว่าจ้างได้มอบหมายให้กับทางบริษัทเราดำเนินการอยู่นั้นก็เข้ามาจำนวนมากพอ เช่น การทำโต๊ะ เก้าอี้จัดงานเลี้ยง เป็นต้น ตรงจุดนี้ทางบริษัทจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงผลกำไรที่เข้ามาไว้ก่อน พอก่อร่างสร้างตัวได้แล้วสักระยะหนึ่งก็มีบริษัทจากประเทศฮ่องกงมาว่าจ้างบริษัทของเรา หรือมีบริษัทออกแบบตกแต่งภายในมาชักชวนให้ร่วมมือกัน แต่บริษัทของเราเองก็ยังเป็นแค่ผู้รับงาน ไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการออกแบบเองโดยตรง และในปัจจุบันทางบริษัทของเรายังไม่มีบุคลาการประจำแผนกครีเอทีฟ (creative) มีเพียงแค่แผนกพูดคุยงานก่อนที่จะรับมาทำ ในบางครั้งผู้ว่าจ้างก็ออกแบบงานมาให้เราเพียงคร่าว ๆ และเราต้องไปคิดต่อเติมเอง”

เมื่อเจอปัญหาเช่นนี้แล้วทางบริษัทคิดที่จะหานักออกแบบมาช่วยเสริมในกระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์บ้างไหมครับ

“ทางบริษัทของเรามีนักออกแบบอยู่แล้ว แต่ความสามารถหรือความถนัดเฉพาะด้านนั้นยังไม่ตรงตามความสามารถ เพราะนักออกแบบของทางบริษัทมีความรู้ด้านเคหะภัณฑ์ และด้านสถาปัตยกรรม ซึ่งก็ยังไม่ตรง หรือบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งบางครั้งก็ต้องเสียเวลากับการแก้งานที่ออกแบบผิดพลาด และปัจจุบันก็กำลังหานักออกแบบทางด้านโลหะโดยตรง เพราะเวลาที่รับงาน หรือนำเสนองานลูกค้าหรือผู้ว่าจ้าง จะได้มีความแม่นยำและตรงตามเป้าหมาย”

ตอนนี้ทางบริษัทเป็นเพียงแค่ผู้ว่าจ้างรับงานมาอีกทอดหนึ่ง มีแนวคิดที่จะสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้มีความแปลกใหม่ หรือเพิ่มพูนมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์โลหะจากเดิมอย่างไร

“ปัจจุบันผลผลิตจากโลหะของบริษัทเรานั้นขึ้นชื่อในด้านความประณีต สวยงาม ไม่เหมือนงานที่เราพบเห็นจากร้านผู้ประกอบการรายย่อย เช่น ร้านก๋วยเตี๋ยว  หรือร้านอาหารทั่วไป งานที่ทำอยู่จะทำส่งให้กับทางผู้ประกอบการโรงแรม ซึ่งจะเน้นงานที่มีคุณภาพสูง เพื่อให้ผู้ว่าจ้างพึงพอใจมากที่สุด และในส่วนที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์ของเรามีความแปลกใหม่และทันสมัยนั้น ทางบริษัทของเราก็มีแนวคิดที่จะจัดจ้างนักออกแบบที่จบทางด้านการออกแบบโดยตรง หรือผู้มีความรู้ด้านศิลปะเข้ามาร่วมสร้างสรรค์ผลงาน คล้ายกับที่คณาจารย์จากคณะจิตรกรรมฯ เข้ามาร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานในการแสดงศิลปกรรมครั้งนี้ อีกทั้งบริษัทก็ต้องการที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์และตั้งชื่อแบรนด์ให้เป็นของตนเอง ไม่อยากที่จะมารับงานเช่นนี้อยู่ตลอด เพราะปัจจุบันนี้มีบริษัทที่เข้ามาตีตลาดคู่กับผลิตภัณฑ์ของทางบริษัท จึงต้องการที่จะมีผลิตภัณฑ์เป็นของตัวเองบ้าง อย่างเช่นผลงานของอาจารย์บางท่านที่ให้บริษัทของเราจัดทำ มีความเป็นไปได้สูงที่จะพัฒนาไปสู่แบรนด์ของตนเองได้ ฉะนั้นทางบริษัทของเราจึงมาเข้าโครงการศิลปกรรมในครั้งนี้ ด้วยจุดมุ่งหมายที่ว่าต้องการนักออกแบบ และความคิดที่มาจากนักออกแบบเพื่อมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ไม่ซ้ำแบบใคร และต่อยอดเป็นสินค้าลิขสิทธิ์ของเราเองได้ โดยผลิตภัณฑ์นั้นต้องเกิดจากพุทธิปัญญาของเราเอง ซึ่งตอนนี้ยังเป็นช่วงเริ่มต้นจากความคิดดังกล่าว และมีแนวโน้มที่จะเป็นไปได้สูง”

ปัจจุบันนี้ผลิตภัณฑ์จากวัสดุอุตสาหกรรมเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิตของเราแทนที่วัสดุธรรมชาติอันเกิดจากภูมิปัญญาดั้งเดิมของคนไทย ทำให้ภูมิปัญญาบางอย่างสูญหายหรือถูกลืมเลือนไป ตรงจุดนี้คุณธัชพรมีแนวคิดอย่างไรบ้างครับ

 “เนื่องจากเราทำงานด้านโลหะมานานหลายปี ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าวัสดุที่เป็นโลหะหรือวัสดุอื่น ๆ เข้ามาแทนที่วัสดุที่ทำจากไม้เป็นส่วนใหญ่ ฉะนั้นจึงคิดว่าเป็นเรื่องปกติที่วัสดุเหล่านี้จะเข้ามาแทนที่วัสดุจากภูมิปัญญาไทยเราซึ่งค่อย ๆ ลดหรือเลือนหายไปตามสภาพกาลเวลา แต่ก็ต้องยอมรับว่าผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากภูมิปัญญาดั้งเดิมของไทยเรานั้นมีความประณีต สวยงาม ทั่วโลกยังให้การยอมรับ ถ้าหากเราหยิบยืมเอาความคิดหรือผลผลิตดั้งเดิมของชนชาติไทยเราแล้วมาผนวกแปรรูปด้วยวัสดุที่เป็นโลหะที่มีความคงทน และถาวรมากกว่า มันก็จะยิ่งช่วยเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ที่มาจากรากฐานภูมิปัญญาดั้งเดิมของไทยเรา นี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่เข้ามาร่วมโครงการศิลปกรรมในครั้งนี้ โดยการพัฒนาความคิดจากการใช้วัสดุก่อน แล้วจึงพัฒนาสู่การอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทยในลำดับต่อมา”

ธุรกิจของคุณธัชพรและสามี(คุณจิรัฏฐ์ อารียวัฒนสมบัติ) จะมีแนวทางในการดูแลรักษาและพัฒนาบริษัทในฐานะที่เป็นองค์กรภาคเอกชนให้สามารถดำรงอยู่อย่างเข้มแข็งในสังคมไทย และมีส่วนช่วยก่อเกิดประโยชน์ต่อสังคมไทยในระยะยาวได้อย่างไร

“ในตอนนี้ภาคธุรกิจของเรากำลังพัฒนาอยู่สองโครงการหลัก อย่างแรกก็คือการพัฒนาและควบคุมการผลิต ในส่วนที่สองซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญมากก็คือการพัฒนาคน เพราะว่าบุคลากรของเรามีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนบริษัทให้เจริญก้าวหน้า ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเรื่องงาน การใช้ชีวิต หรือปัญหาความเดือดร้อนกายใจต่าง ๆ เราก็ดูแลอย่างดีที่สุด อีกทั้งบุคลากรทั้งหมดของเราเป็นคนไทย ไม่มีแรงงานต่างด้าว ทางบริษัทไม่เคยทิ้งคนงานของเรา หากบุคลากรของเราไม่มีปัญหาใด ๆ แล้วก็สามารถที่จะพัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นต่อไป”

จากโครงการ ศิลปกรรมจากภูมิปัญญาไทย  “วิจิตรศิลป์-สินไทย” ที่ทางบริษัทได้เข้าร่วมกับศิลปินหรือคณาจารย์ในคณะจิตรกรรมฯ เพื่อสร้างสรรค์ผลงานมาจัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมหรือความคิดเห็นส่วนตัวอย่างไรบ้างครับ

“รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่มีส่วนช่วยและได้เข้าร่วมโครงการครั้งนี้ อาจารย์ทุกท่านที่ออกแบบงานมาให้ ก็มีความเป็นกันเอง น่ารักทุกท่าน มีอัธยาศัยดี แม้จะไม่ได้พบผู้ออกแบบโดยตรง เพียงแค่ได้พูดคุยกันทางโทรศัพท์ ส่วนแบบผลงานที่ออกแบบมาให้ทางบริษัทของเราจัดทำนั้น ต้องยอมรับว่าสวยและแปลก บางผลงานค่อนข้างสมัยใหม่เกินไป บางผลงานมีความเป็นไปได้ที่จะนำมาพัฒนาต่อเพราะผลงานนั้นดูเรียบง่าย ทำขึ้นง่าย ผลงานบางชิ้นต้องยอมรับว่าไม่เคยทำมาก่อน บางชิ้นทำไม่ได้ แต่อาจารย์บางท่านก็เข้ามาช่วยปรับ ผลงานบางชิ้นเราต้องการให้อาจารย์ปรับเพราะเราทำไม่ได้ แต่อาจารย์อยากให้ทำตามแบบ สุดท้ายแล้วจึงต้องมาร่วมมือกันทำให้สำเร็จในที่สุด ถ้ามองถึงจุดยืนของการแสดงผลงานศิลปกรรมครั้งนี้ไม่ใช่ในเชิงพาณิชย์แต่เป็นการใช้ศิลปะสื่อสารความคิดของศิลปินสู่สาธารณชนมากกว่า ในอนาคตหากทางคณะจิตรกรรมฯ และทางบริษัทเราผสานงานกันได้เช่นนี้ก็จะเป็นสิ่งที่ดี ส่วนทางบริษัทเราเองก็ต้องพัฒนาและปรับตัวต่อไป”

นับว่าเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่บริษัท วัฒนสิริโลหะการ จำกัด ได้เข้ามามีบทบาทเป็นส่วนสำคัญในการผลิตผลงานศิลปะในครั้งนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นตัวอย่างที่ดีในการร่วมมือกันส่งเสริมให้เศรษฐกิจไทยก้าวสู่ความเข้มแข็ง ด้วยการนำแนวคิดทางศิลปะมาสร้างสรรค์ผลงานหรือต้นแบบผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าทางศิลปะสู่สังคม

สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย  ธีรพล  อุทุม