บทความทางวิชาการ

บทสัมภาษณ์ คุณสมชัย ส่งวัฒนา

จิรดา จรีเวฬุโรจน์

คุณสมชัย ส่งวัฒนา
ผู้ประกอบการ บริษัท At Bangkok Co.,Ltd
ผู้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายและเครื่องหนัง ภายใต้แบรนด์ FLYNOW เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการปฏิบัติการไทยเข้มเเเข็ง : ศิลปกรรมจากภูมิปัญญาไทย “วิจิตรศิลป์-สินไทย”โดยให้การสนับสนุนศิลปินทั้งในด้านเทคนิค วัสดุ และการสร้างสรรค์ผลงานด้วยผ้าหรือเครื่องหนัง

 

จากการสัมภาษณ์พูดคุยกับคุณสมชัย เพื่อสอบถามความคิดเห็นในข้อคำถามที่ว่าศิลปะมีส่วนช่วยพัฒนาวัสดุผ้าและเครื่องหนังได้อย่างไรบ้าง พบเห็นความเปลี่ยนแปลง หรือพัฒนาการได้มากน้อยเพียงใดคุณสมชัยได้ให้ความเห็นว่า

“จะมองเรื่องตัววัสดุคือผ้าหรือหนังอย่างเดียวไม่ได้ ความเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาการควรจะต้องมองให้เป็นองค์รวม ซึ่งหมายถึงทั้งระบบตั้งแต่ผู้ผลิต ไปจนถึงผู้บริโภค นั่นหมายถึงทั้งระบบของสังคม ถ้าสังคมที่เกี่ยวข้องกับเรามีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี ก็แปลว่าการพัฒนาของเราประสบผลสำเร็จ”

สำหรับการดำเนินงานภายใต้โครงการปฏิบัติการไทยเข้มเเข็ง ที่มุ่งหวังให้ชุมชนหรือสังคมเกิดการพัฒนา คุณสมชัยได้แสดงทัศนะไว้อย่างน่าสนใจ

“ในกรณีนี้ถือว่าศิลปินเข้ามาทำงานร่วมกัน แลกเปลี่ยนกันในด้านทัศนคติทางปัญญา และแนวความคิดที่สร้างสรรค์  ผมก็จะให้ข้อเสนอแนะในเรื่องของธุรกิจแฟชั่น หรือเทคนิคเกี่ยวกับเสื้อผ้าและเครื่องหนัง ส่วนศิลปินก็มีจินตนาการในการนำเสนอเสื้อผ้าเชิงสร้างสรรค์ และเชิงออกแบบ โดยเป็นการนำเสนอมุมมองใหม่ ๆ ถ้าไม่มีอะไรใหม่ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะแต่เดิมผมก็ทำในส่วนของผมอยู่แล้วดังนั้นเราจึงต้องหาจุดร่วมใหม่ ๆ ระหว่างศิลปินกับผู้ประกอบการทางด้านแฟชั่นโดยที่รักษาจุดแข็งของแต่ละฝ่ายไว้ จากนั้นจึงเอามุมมองที่มีมาเเลกเปลี่ยนกัน แต่ด้วยคนที่ทำงานเกี่ยวกับเสื้อผ้ามานาน ก็อาจจะมีมุมมองซ้ำ ๆ หรือคนที่ทำศิลปะมานานก็จะมีมุมมองของศิลปะแบบซ้ำ ๆ เหมือนกัน ซึ่งในสมัยใหม่นี้มีหลักการบางอย่างที่เรียกว่า cross – ข้ามสายพันธุ์  คือนำคนที่มีนิสัยบางอย่างที่สามารถทำงานร่วมกันได้ แต่มีมุมมองต่างกันมาเชื่อมโยงกัน ทำให้เกิดมุมมองใหม่ ๆ ขึ้นมา ซึ่งในโลกธุรกิจสมัยนี้ การทำงานที่ต้องออกแบบหรือคิดสร้างสรรค์ ต้องการแนวความคิดแบบนี้มาก ๆ”

จึงเป็นที่มาของแนวความคิดหรือหลักปฏิบัติที่คุณสมชัยเสนอไว้ คือการใช้ความคิดสร้างสรรค์สนับสนุน หรือส่งเสริมภาคธุรกิจ เพราะการสร้างสรรรค์นั้นสามารถเพิ่มมูลค่าของวัสดุให้มากไปกว่าที่เป็นอยู่ได้

                “ผมเป็นคนทำธุรกิจ ที่เอาธุรกิจนำเรื่องของครีเอทีฟ (creative) แต่ศิลปินมีความคิดครีเอทีฟ และบางครั้งไม่ได้สนใจว่าธุรกิจคืออะไร เราจึงเอาสองเรื่องนี้มาผสมผสานกัน คือการทำให้ครีเอทีฟ หรือศิลปะกลายเป็นธุรกิจ และเอาความครีเอทีฟมาทำให้วัสดุหรือวัตถุเกิดมูลค่าเพิ่ม แต่สิ่งที่น่าตกใจคือ ขณะนี้มูลค่าเดิมของวัสดุที่มีอยู่ถูกทำให้ด้อยค่าลง เหมือนอย่างโฆษณาในอดีต ที่นำท่อนไม้ซุงขนาดใหญ่มาฝนจนเหลือเพียงไม้จิ้มฟันแท่งเดียว ทำให้เห็นว่าทรัพยากรมีค่าทั้งหลายถูกแปรรูปไปอย่างน่าเศร้า

ประเทศไทยในอดีตสมัยที่ผมยังเรียนอยู่ สินค้าส่งออกที่เป็นกระแสนิยมคือ ข้าวและไม้สัก ซึ่งมีความแตกต่างกันอยู่ที่ ข้าวปลูกได้ทุกปี ในบางพื้นที่ปลูกได้ถึงปีละ 2 ครั้ง แต่ไม้สักที่ถูกตัด บางต้นมีอายุถึง 100 ปี ถ้าถูกตัดไปอาจต้องรอไปอีก 100 ปี ถึงจะมีต้นสักเข้ามาแทนที่ต้นเก่าที่ถูกตัดไปขายได้ ในส่วนนี้จึงทำให้เกิดข้อกังขาว่า เราคิดถูกหรือผิดกับการทำสิ่งเหล่านี้ ถ้าในทางกลับกัน หากเราเก็บไม้สักไว้ เเละเอาไม้นั้นมาแปรรูป เพราะถ้าเป็นสมัยก่อน ไม้สักทั้งต้นอาจขายได้ต้นละ 1,000 บาท แต่ถ้าหากเราเก็บไว้จนถึงตอนนี้ มูลค่าเพิ่มเป็น 2 แสนบาท และถ้านำต้นไม้มูลค่า 2 แสนบาท ไปแปรรูปให้ได้เงิน 2 ล้าน มูลค่ามันเพิ่มเท่าทวีคูณ ผมว่าสิ่งเหล่านี้คือประเด็นสำคัญ เป็นแกนกลางของระบบความคิดพัฒนาประเทศไทย”

แต่ความคิดเรื่องการเพิ่มมูลค่านี้จะประสบผลสำเร็จได้ ไม่ใช่แค่กลุ่มศิลปิน นักออกแบบ กับกลุ่มผู้ผลิตสินค้าเท่านั้นที่พึงกระทำ แต่ต้องเกิดขึ้นจาก องค์รวมคือแต่ละภาคส่วนของสังคม

                “นอกจากเรื่องการเพิ่มมูลค่าแล้ว ในวันนี้รัฐบาลพูดใหญ่กว่านั้น พูดเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ไม่แน่ใจว่าจะเป็นเรื่องที่ใหญ่ไปหรือเปล่า แต่ไม่เป็นไร เรามีหน้าที่ทำให้ดีที่สุด เช่น คิดว่าเอาเรื่องความคิดสร้างสรรค์มาช่วยเพิ่มมูลค่าก็พอ และถ้าทุกคนมีสำนึกเช่นเดียวกันนี้ มันก็จะกลายเป็นภาพรวม ซึ่งหมายถึง องค์รวม คือ รวมทั้งระบบทุกสังคม ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจากอดีตมาจนถึงตอนนี้ เราต่างเห็นว่าเกษตรกรก็ยังจนเหมือนเดิม ในขณะที่ผู้ทำกิจการน้ำมันกลับรวยขึ้น ๆ ถ้าถามว่าแล้วน้ำมันกับข้าว หรืออาหาร ต่างกันยังไง สิ่งไหนจำเป็นกว่ากัน  แล้วทำไมคนขุดน้ำมันถึงขายน้ำมันได้แพงกว่าอาหาร ทำให้มูลค่าผลผลิตทางการเกษตรที่ออกสู่ตลาดกลับลดลงอย่างไม่น่าเชื่อภายในระยะเวลาที่ไม่นานมานี้ อาจต้องดูกันที่การจัดการ มันเป็นเพราะภาวะการจัดการทางสังคมล้มเหลว หรือว่ามีนัยยะแอบเเฝง”   

จากความคิดเห็นของคุณสมชัยเรื่องมูลค่าเพิ่ม ที่ผันแปรไปอย่างไม่สอดคล้องกับระดับความสำคัญของกลุ่มอาชีพ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าในกรณีนี้ วัฒนธรรมที่เคยเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของคนไทย ที่มักเกิดจากคนในสังคมระดับล่าง  เราควรจะเข้าไปเปลี่ยนแปลงทำให้มันดีขึ้น หรือยังคงไว้เหมือนเดิม  คุณสมชัยมองในประเด็นนี้จากประสบการณ์ที่พบเห็นว่า

“ประเทศไทยเรามีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก กลับไปกลับมา บางสิ่งในวันนี้เป็นเรื่องที่ดี เมื่อผ่านไปไม่นานสิ่งนั้นก็จะถูกมองว่าเป็นสิ่งไม่ดี มีเรื่องที่คิดว่าดีเข้ามาใหม่ และในอีกไม่นานเรื่องดีเรื่องใหม่นั้นก็จะถูกมองว่าไม่ดีอีก       

มันเหมือนว่ากำลังเถียงกันเรื่องไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน แต่ไม่เคยคิดว่าเรื่องที่ดีก็ควรเอามาต่อยอด หรืออะไรที่มันเลวก็ให้ทำลายมัน แล้วค่อยเติมเรื่องที่ดีเข้าไป ถ้าทำได้อย่างนี้ ประเทศไทยจึงจะเจริญ ผมเป็นภาคเอกชนเล็ก ๆ ก็ไม่ต้องคิดอะไรมาก เพราะเศรษฐกิจของประเทศรวมถึงทั้งโลกไม่ใช่เรื่องง่าย เเต่ผมเห็นว่าบางครั้งเราทำให้ประเทศตัวเองมีปัญหา เราทะเลาะกันทำให้นักท่องเที่ยวไม่เข้ามา คนที่จะจนขึ้นก็คือคนที่อยู่ในกลุ่มวังวนของปัญหานั่นแหละ ส่วนคนที่ฉลาดกว่าก็อยู่ในจุดที่เหนือปัญหา คนที่รับชะตากรรมก็คือคนที่อ่อนแอและเขาจะอ่อนแอลงเรื่อย ๆ ส่วนคนที่เข้มเเข็งก็จะเข้มแข็งยิ่งขึ้น แล้วความเสมอภาค เท่าเทียมกันก็ไม่เกิดขึ้นมา”

FLYNOWเองก็เป็นหน่วยย่อยของประเทศ เป็นภาคเอกชนที่อยู่ในสังคมนี้ สิ่งที่คุณสมชัยทำได้และกำลังทำอยู่คือการดูแลรักษาธุรกิจ และสังคมในองค์กรของตัวเองให้ดี เพื่อว่าวันหนึ่งมันจะพัฒนา และเชื่อมต่อกันเป็นลูกโซ่สู่สังคมภายนอก

“ในวันนี้ผมมีหน้าที่ต้องดูแลคนของผมให้ดี ให้มีอนาคตที่ดี ดูแลงานที่เขาทำอยู่ให้มันก้าวหน้า พอแล้ว  แล้วถ้าวันหนึ่งเรื่องข้างนอกเราพอช่วยได้ เราก็ช่วยเต็มกำลัง ถ้าช่วยไม่ได้ก็ไม่ต้องช่วย เพราะบางเรื่องช่วยแล้วสูญเปล่า เอาเวลาที่มันสูญเปล่ามาทำให้มีค่าต่อคนของเราที่เป็นสังคมเล็ก ๆ ดีกว่า ฟังเผิน ๆ อาจจะเห็นแก่ตัว แต่ถ้าฟังแล้วคิดลึก ๆ ผมว่าผมไม่เห็นแก่ตัว เพราะผมกำลังทำเรื่อง เรียลลิสติก(realistic) บางคนทำเรื่องเพ้อฝัน ถ้าเพ้อเรื่องที่ถูกก็ยังแปลว่าถึงฝั่ง แต่ถ้าไปเพ้อเรื่องที่ผิด มันก็มีแต่เรื่องเลวร้าย เพราะฉะนั้นวันนี้เราไม่เพ้อ เราอาจจะฝันแล้วก็ทำความฝันของเราให้เป็นจริง ในความสามารถที่เราทำได้ มันอาจเป็นข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์หรือไม่ก็สุดแล้วแต่ ฉะนั้นถ้าทุกคนกลับมาพึ่งตัวเอง ผมว่าสิ่งนี้แหละคือ ความเข้มเเข็ง แล้วถ้าวันหนึ่งความเข้มแข็งในภาคใหญ่มันเกิดเพิ่มขึ้นอีก นั่นก็คือของเเถม แต่ถ้าไม่มีอะไรดีขึ้นมาก็ อตฺตา   หิ  อตฺตโน  นาโถตนเป็นที่พึงแห่งตน”

ประเทศไทยจะเข้มเเข็งขึ้นได้ ถ้าตัวบุคคลต้องพัฒนาตัวเองก่อน โดยไม่ลืมสิ่งที่เราเป็นอยู่ นั่นคือไม่ลืมสังคมของเราไม่ลืมความเป็นคนไทย

“ตอนนี้ในประเทศไทยมีคนบางกลุ่ม ทำให้ประเทศนี้อ่อนแอ แต่ถ้าคนในประเทศนี้ไม่ยอม คนกลุ่มนั้นจะทำได้ไหมกลุ่มไหนก็ทำไม่ได้  ดังนั้นอย่าไปโทษใครเราโทษใครไม่ได้ พูดอะไรไม่ได้ ฉะนั้นในภาวะการโยนความผิด ตัดสินคุณค่ากันและกัน มันควรจะหยุด และกลับมาเริ่มที่ตัวเองด้วยสำนึกว่าเราจะทำอะไรที่เป็นเรื่องดี ดีจากตัวเราก่อนถ้าตัวเองทำได้ก็ทำไป ครอบครัวของเราก็ทำไป สังคมของเราก็ทำไป ธุรกิจของเราก็ทำไป ถ้าทั้งหมดนี้มันดีแล้ว พวกที่ไม่ดีมันก็จะดีขึ้นมาเอง หรือยิ่งถ้าพวกที่ไม่ดีมันดีด้วย แล้วเรามารวมกัน ประเทศของเรามันก็จะดี”

นั่นหมายถึง หากเราจะทำให้ประเทศชาติดีขึ้น พัฒนาไปจากที่เป็นอยู่นี้ สิ่งเดียวที่เราทำได้คือ หันหน้าเข้าหากัน นำความรู้ความคิดมารวมกัน แล้วก็ร่วมมือทำด้วยกันอย่างเช่น โครงการปฏิบัติการไทยเข้มเเข็งนี้ที่FLYNOWให้การช่วยเหลือเต็มกำลัง มีการร่วมมือกันทั้งทางความคิด และการปฏิบัติงานด้วยทัศนคติที่เคารพกันและกัน ซึ่งถึงผลสุดท้ายอยู่ในรูปของเสื้อผ้าจำนวนหนึ่ง ซึ่งอาจไม่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาการที่เป็นรูปธรรม แต่ก่อให้เกิดสิ่งสำคัญที่มองไม่เห็นคือ เจตคติและความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันซึ่งเกิดขึ้นจากการทำกิจกรรมในโครงการนี้คุณสมชัยเชื่อว่าการเชื่อมโยงทางความรู้ และความปรารถนาดีนี้เองที่จะก่อให้เกิดแรงขับเคลื่อนที่ดีต่อไป

“อย่างเช่นเรื่องโครงการร่วมกันกับศิลปากร ก็เห็นว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ ก็มาทำร่วมกัน มีศิลปิน มีอาจารย์เข้ามา ก็มาช่วยกันทำจนสำเร็จ เมื่อทำเสร็จก็ถามอาจารย์ว่า อาจารย์สอนอะไร ถนัดอะไร ในวันข้างหน้ามาช่วยสอนคนของผมด้วยนะ หรือถ้าวันหนึ่งทางศิลปากรต้องการความรู้ความถนัดจากผม ผมก็ไปช่วยได้ เรื่องเเบบนี้ผมถือว่าเป็นเรื่องเรียลลิสติก (realistic) ถ้าทำได้อย่างนี้มันจะเป็นประโยชน์ขึ้นมาทันที เพราะผมคิดว่า กำลังของคนเรามีจำกัด เราไม่ได้เป็นอมตะ สังขารเราทำให้เรามีข้อจำกัด เราจะตายไปเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ เราจึงต้องเลือกทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ เราจึงควรนำความรู้ของเราไปให้แก่ผู้ที่ใช้ประโยชน์ได้ ถือว่าเป็นวิทยาทาน เป็นการให้ทานที่เมื่อให้ไปแล้ว มันก่อดอกออกผล และไม่ต้องคิดว่าผลที่ได้จะกลับมาหาเราหรือเปล่า ดังนั้นเมื่อวันหนึ่งเราทำงานร่วมกัน เราต่างฟังในสิ่งที่แต่ละฝ่ายถนัด แล้วนำมาเชื่อมโยงกัน แลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างสถาบันและองค์กร ต่างฝ่ายก็ไม่เดือดร้อน อีกทั้งยังใช้เวลาที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ ซึ่งประโยชน์นี้คือเเรงที่ดี ซึ่งมาจากเจตนาที่ดี ฉะนั้นมันจึงจะพัฒนางอกเงยได้”

สิ่งใด ๆ ก็ตามที่จะพัฒนาไปในทางที่ดี มันจะเริ่มจากเจตนาของเราเองที่ไม่ได้หวังผลกำไร หรือผลประโยชน์ในภายหลัง เพียงแค่อยากจะเเลกเปลี่ยนและแบ่งปัน  ผลที่แท้จริงคือแรงขับเคลื่อนที่เป็นพลวัตรในทางที่ดี

                “เพราะเรื่องการคิดดี มันเป็นสัจจะที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ พิสูจน์มาได้กว่า 2,000 ปีแล้ว และพระผู้ใหญ่หลายท่านก็มักจะพูดถึงองค์รวมของความดี ฉะนั้นความดีต้องเริ่มต้นจากการคิดถ้าคิดเรื่องที่ดี มันก็จะส่งผลออกมา หากคิดต่างกันก็เป็นเรื่องปกติ แต่อย่าเอาความคิดนั้นมาทำลายอีกฝ่าย เราควรเอาความคิดต่างนั้นมาใช้ในเชิงสร้างสรรค์ดีกว่า นั่นคือถ้าคู่แข่งหรือศัตรูของเราคิดต่างไปจากเรา และเป็นสิ่งที่ดีกว่า เราก็ควรจะเรียนรู้ไว้ แล้วหันกลับมาพัฒนาความคิดตนเองต่อ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องอิจฉากัน”

เพราะการพัฒนาอะไรก็ตาม เราต้องมองให้รอบด้าน ทั้งมิตร ศัตรู คู่แข่ง ไม่ใช่มองเฉพาะตัวเราอย่างเดียว  ส่วนเรื่องความคิดนั้นก็มีได้ทั้งสองทาง คือในทางที่ดีและในทางที่ชั่ว ถ้าเราใช้ความคิดนั้นไปในทางที่ชั่ว ผลร้ายก็จะทวีวงกว้าง

 “แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ไม่ต้องรีบร้อน เพราะมันก็จะเจริญงอกงามด้วยตัวมันเอง ให้กลับมามองเรื่องที่ทำได้ ซึ่งเป็นเรื่องง่าย ๆ คือให้ความรัก ให้สิ่งดี ๆ กับคนที่มีความพร้อม มีความปรารถนาที่อยากจะเป็นคนดีเป็นคนเก่ง นั่นคือการเริ่มต้นจากสิ่งเล็ก ๆ ที่ถูกต้อง โดยจะทำให้เกิดประโยชน์ในวงกว้างได้ ถึงแม้สุดท้ายผลจะออกมาไม่มากเท่าที่ควร แต่ถ้าค่อย ๆ ทำไป มันก็จะพัฒนาขึ้นมาเองในไม่ช้า”

แต่ตามเหตุการณ์ที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ทำให้รู้สึกได้ว่าคนเรามักจะมองที่ผลว่ามันเป็นอย่างไร และใช้ผลนั้นเป็นตัวตัดสินคุณค่า แต่เราไม่ค่อยเข้าไปดูว่าอะไรคือเหตุ

“หากจะเทียบกับกิจกรรมที่เราทำกันในครั้งนี้ นั่นคือเสื้อผ้า มันเป็นเรื่องของผล ซึ่งตัวเสื้อผ้าเดี๋ยวเราก็จะได้เห็นกันอยู่แล้ว แต่เหตุของเรื่องนี้ก็คือความคิดที่อยากจะร่วมมือกัน เราควรจะสนใจตรงนี้ดีกว่า หากเปรียบกับส้มตำหรือผัดไท เป็นของธรรมดา ๆ ของเรา แต่เป็นอาหารที่พิเศษสำหรับคนต่างชาติ เพราะเขามองมันลึกไปกว่าตัวอาหารที่กิน มองไปถึงภูมิปัญญา ซึ่งแฝงไปด้วยวัฒนธรรม และความคิดของผู้ที่ปรุงมันขึ้นมา”

                โดยสรุปแล้วหลักการทั้งหมดคือ ต้องเข้าใจเหตุของการกระทำให้ได้ และเริ่มต้นจากตรงนั้นก่อน ซึ่งก็คือต้องเริ่มต้นจากคิดให้ครบ ให้ครอบคลุมเป็นองค์รวม และต้องยอมรับว่าถ้าผลมันไม่ดี แปลว่าเหตุมันย่อมไม่ดีแน่ ๆ หากไปปรับปรุงให้มันดี แล้วผลมันก็จะออกมาดีเอง โดยเริ่มจากเล็กไปหาใหญ่ ทำจากเรื่องที่เป็นความจริงในสังคม และต่อเนื่องเชื่อมโยงเข้ากับเรื่องของเรา ความรู้ความถนัดของเราให้ได้ สุดท้ายถ้าไม่ได้อะไรก็ อตฺตา   หิ  อตฺตโน  นาโถ จากนั้นก็ไม่ต้องมีคำบ่น คำด่า หรือการโทษกัน เพราะเรื่องที่เราควรจะโทษตัวเองก็มีมากมาย    และท้ายที่สุด ถ้าสำนึกเรื่องของตนเองนั้นมันดีมีคุณภาพกันทั้งระบบ มันก็จะเกิดความเข้มเเข็งของชุมชน สังคม เมือง สุดท้ายก็เป็นประเทศ โดยคิดไว้ว่าอย่าเพิ่งไปหวังอะไรลม ๆ แล้ง ๆ

สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย  จิรดา  จรีเวฬุโรจน์