บทความทางวิชาการ

บทสัมภาษณ์ คุณวศินบุรี สุพานิชวรภาชน์

ชนิสร์ สุทธิยุทธิ์

คุณวศินบุรี สุพานิชวรภาชน์
ศิลปินและนักออกแบบเซรามิก ทายาทโรงงานผลิตโอ่งเครื่องปั้นดินเผารายแรกและรายใหญ่ที่สุดของจังหวัดราชบุรี ซึ่งปัจจุบันรู้จักกันดีในชื่อ 'เถ้าฮงไถ่'
หนึ่งในผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการปฏิบัติการไทยเข้มเเเข็ง : ศิลปกรรมจากภูมิปัญญาไทย “วิจิตรศิลป์-สินไทย”โดยให้การสนับสนุนศิลปินทั้งในด้านเทคนิค วัสดุ และการสร้างสรรค์ผลงานเครื่องปั้นดินเผา

 


ในฐานะของผู้ประกอบการคุณวศินบุรีมีความเห็นว่าโครงการไทยเข้มแข็งจะสามารถช่วยพัฒนาศักยภาพของผู้ผลิตงานหัตถกรรมได้มากแค่ไหน อย่างไร

“ไทยเป็นชาติที่มีศิลปวัฒนธรรม และประวัติความเป็นมาที่ยาวนานในทางด้านหัตถกรรมก็เช่นเดียวกันคือมีการพัฒนาผ่านยุคสมัยเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เอกลักษณ์ของหัตถกรรมไทยอยู่ตรงที่ความประณีต วิจิตร แสดงถึงความมีทักษะของผู้สร้าง

ในปัจจุบันพัฒนาการของหัตถกรรมไทยได้พัฒนามาจนอยู่ในจุดที่เรียกได้ว่าใกล้จะอิ่มตัว ทั้งในเรื่องของรูปลักษณะ ผีมือ และความประณีต การออกแบบจึงเป็นอีกหนทางหนึ่งของหัตถกรรมไทย ซึ่งต้องแข่งขันกับหลายชาติในตลาดสากล ซึ่งให้ความสำคัญกับการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์เป็นหลักในเรื่องรูปแบบ

หัตถกรรมไทยนั้นมีอัตลักษณ์พิเศษของแต่ละท้องถิ่นซึ่งเป็นสมบัติล้ำค่าอยู่แล้วแต่ต้น ถ้าสามารถนำสิ่งที่มีอยู่มาผสานเข้ากับศิลปะและการออกแบบได้ ก็จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของผลงาน ช่วยเพิ่มคุณค่าและมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์เกิดเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจในเชิงสร้างสรรค์ทั้งนี้หมายรวมถึงการพัฒนาบุคลากรของเราด้วย”

ควรกระทำระยะยาวอย่างต่อเนื่องและสร้างฐานให้มั่นคง เน้นให้คนไทยรู้ถึงคุณค่าของศิลปะ หัตถกรรมและการออกแบบ

 “เราต้องทำความเข้าใจความคิดของคนส่วนใหญ่ในสังคมเสียก่อน สังคมไทยในปัจจุบันนี้ในภาพรวมยังค่อนข้างห่างเหินกับศิลปะ เราต้องปรับเปลี่ยนทัศนะของผู้คนในสังคมเสียใหม่ทำให้ศิลปะกับสังคมได้มีโอกาสพบปะกันมากขึ้น ใกล้ชิดกันมากขึ้น ไม่แค่เพียงแต่รู้ถึงคุณค่าอย่างเดียวแต่จะต้องทำให้“รู้สึก”ถึงคุณค่าอย่างจริงจัง ควรมีการจัดทำโครงการในลักษณะต่อเนื่องไม่กระทำในรูปแบบของการสร้างกระแสที่มาเร็วไปเร็ว เพื่อเป็นการต่อยอด สร้างความมั่นคงให้เกิดขึ้นและติดอยู่ในความรู้สึกของคนไทยจริงๆ เสมือนกับการปลูกไม้ยืนต้น แม้จะใช้เวลาเสียหน่อย ต้องลงทุนลงแรงมาก แต่เมื่อสำเร็จออกดอกผลก็สามารถเก็บเกี่ยวได้อย่างต่อเนื่องยั่งยืน ต่างกับการทำไร่เลื่อนลอยซึ่งต้องคอยย้ายที่ปลูกตรงนั้นทีตรงนี้ที ในที่สุดก็ไม่ได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอัน มีแต่จะก่อให้เกิดความเหน็ดเหนื่อยซ้ำซาก”

เราต้องไม่ลืมว่าอะไรคือสิ่งที่เป็นสาระสำคัญของโครงการ

“สิ่งที่เป็นสาระสำคัญของโครงการนี้คือให้ผู้ประกอบอาชีพสามารถนำแนวทางความคิดสร้างสรรค์ที่ได้รับจากการร่วมโครงการกับศิลปินไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนอย่างต่อเนื่อง กระทั่งสามารถนำไปต่อยอดเกิดการพัฒนาด้วยตนเองโดยไม่จำเป็นต้องรอศิลปินหรือนักออกแบบคอยเป็นผู้หยิบยื่นให้เสมอไป

ผู้คนที่พบเห็นสามารถสัมผัสถึงศิลปะได้อย่างแน่นอนแต่สิ่งที่ควรคำนึงถึงนั้น คือทำอย่างไรเราจึงจะสามารถเข้าไปนั่งอยู่ในใจของประชาชนทั่วไป ทำอย่างไรจึงจะทำให้ความเป็นศิลป์เป็นที่น่าจดจำในใจ  ในมุมมองของผู้ประกอบการจะสามารถเข้าใจในสิ่งที่ศิลปินมอบให้ ทำอย่างไรจึงจะเข้าถึงกลุ่มคนทุกกลุ่มและชนชั้น เกิดประโยชน์ได้จริงและต่อยอดได้”

ไม่ใช่ทุกคนที่ทำงานหัตถกรรมทุกคนจะเข้าใจศิลปะ

“คนไทยนั้นมีลักษณะความเป็นช่างฝีมืออยู่ในตัว แต่ชอบการเรียนรู้ในรูปแบบ“ครูพักลักจำ”ซึ่งมีข้อดีอยู่ในเรื่องของการรักษาคุณภาพและความชำนาญ แต่ขาดความคิดที่จะต่อยอด แม้จะผ่านเวลามาเนิ่นนานแต่รูปแบบก็มักไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลง ชอบที่จะอยู่กับความเคยชินกระทำผ่านความคุ้นเคยและชอบการกระทำซ้ำๆ ไม่ค่อยให้ความสำคัญในเรื่องของการพัฒนารูปแบบ การที่จะเปลี่ยนแปลงในจุดนี้จึงอาศัยความค่อยเป็นค่อยไปอย่างช้าๆอะไรที่ดีอยู่แล้วก็คงเอาไว้ เติมเต็มในสิ่งที่ขาดหายช้าๆ ให้ความรู้ในเรื่องศิลปะและการออกแบบเข้ามามีบทบาทร่วมมากขึ้นๆ จนเกิดเป็นความคุ้นชินอย่างแท้จริงจึงจะเกิดเป็นองค์ความรู้ที่ยั่งยืน”

ในครั้งแรกที่มีการจัดทำโครงการขึ้นนี้ จะสามารถสร้างผลกระทบในเชิงบวกให้กับเศรษฐกิจและสังคมได้แค่ไหน

“คิดว่าคงยังไม่มีผลอะไรมาก แต่หวังว่าโครงการนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นให้คนเข้าหาศิลปะมากขึ้น ให้ศิลปะได้พบเจอกับชุมชน ควรมีการต่อยอดไม่ควรเป็นกระแสที่เหมือนจุดพลุที่มีเสียงระเบิดดังเพียงแค่ชั่วขณะหนึ่งแล้วเลือนหายไป ควรเป็นเสมือนต้นไม้ที่เติบโตช้า แต่ออกดอกผลในภายภาคหน้าอย่างที่ได้กล่าวไว้ในตอนต้น

หากมีการจัดทำอย่างต่อเนื่อง ควรจะมีการคำนึงถึงกลุ่มคนที่มีความหลากหลาย ให้เข้าถึงกลุ่มคนได้มากขึ้น เพราะความต้องการของกลุ่มคนในแต่ละกลุ่มนั้นก็มีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไป”

มุมมองในฐานะของผู้ประกอบการ

          “ในฐานะของผู้ประกอบการขอเป็นผู้จุดประกายการทำงานของชุมชนในอนาคตให้เห็นโครงสร้างรูปแบบถ้ามีการจัดทำอย่างต่อเนื่องควรมีการเจาะกลุ่มคนให้ตรงเป้ามากขึ้น มีทิศทางที่ดีขึ้น ทำสิ่งที่เข้าถึงชุมชนให้ได้มากขึ้น”

มุมมองในฐานะศิลปิน

“ตัวศิลปินเองควรปรับปรุงความคิดให้เข้าถึงง่าย นำไปใช้ได้ง่าย ควรคำนึงถึงประโยชน์และวัตถุประสงค์มากกว่าการแสดงออกส่วนตนทุกคนมีมุมมองและความสามารถที่แตกต่างกันควรทำสิ่งที่เขาสามารถทำตามได้ เกิดเป็นการเรียนรู้คุ้นเคย และต่อยอดสู่การสร้างสรรค์งานส่วนตัวในอนาคต”

ในการสัมภาษณ์ครั้งนี้คุณวศินบุรีได้ให้แง่คิดที่มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการสร้างรากฐานเพื่อการก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคง จากการรับรู้ถึงคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่ การเก็บรักษาสิ่งเก่าและเปิดรับสิ่งใหม่ หมั่นสำรวจตรวจตรา รักษาประสิทธิภาพและมาตรฐานสิ่งที่ทำอยู่เสมอ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนควรตระหนักไม่ว่าจะประกอบการใดๆในชีวิตเพื่อที่จะมุ่งสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืนและเข้มแข็ง

สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย ชนิสร์  สุทธิยุทธิ์